ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนในค่าเงิน Forex

ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนในค่าเงิน Forex

การลงทุนในค่าเงิน คืออะไร

Forex มันเป็นชื่อเรียกสั้นๆ ที่มาจากคำว่า Foreign Exchange หมายถึงการซื้อขาย/แลกเปลี่ยนเงินตราสกุลต่างๆ เดิมทีมันมีคนเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่เทรดกัน เช่นระหว่างธนาคารใหญ่ๆ, สถาบันการเงิน, รัฐบาลประเทศต่างๆ แล้วก็คนที่รวยจริงๆ เพราะแต่ละล๊อตที่ซื้อขาย กำหนดขั้นต่ำที่ 100,000 หน่วย หรือที่เรียกว่า สแตนดารด์ล๊อต จะซื้อจะขาย ก็ต้องโทรศัพท์ไปหาโบรกเกอร์ให้ทำให้ แต่ปัจจุบันนี้ อินเตอร์เนตเข้ามามีบทบาทสูงมาก มีโบรกเกอร์ บางทีก็เรียกว่าดีลเลอร์ เปิดให้บริการผ่านอินเตอร์เนต สามารถเทรดกันได้ตั้งแต่ 1 USD ก็มี
คุณจะเห็นโฆษณาของโบรกเกอร์ได้ทั่วไป ชวนคุณเข้าไปเทรดค่าเงิน, เทรดหุ้น โดยเฉพาะที่เน้นๆ กันว่า คอมมิชชันฟรี เพราะหากใครเคยซื้อขายหุ้น ก็คงพอทราบว่า โบรกเกอร์ขายหุ้นปกติแล้วมีรายได้จากค่าคอมมิชชัน ไม่ว่าคุณจะซื้อ หรือจะขาย เขาเก็บค่าคอมมิชชันทั้งสองขา แล้วโบรกเกอร์บนเน็ตเขาได้อะไรละ คำตอบสั้นๆ คือ สเปรด (Spread) ครับ โดยโบรกเกอร์จะกำหนดราคาซื้อ และขาย ของคู่สกุลเงินไม่เท่ากัน เจ้าส่วนต่างนี้แหละครับเรียกว่าสเปรด มาดูตัวอย่างกันครับ
ณ เวลาที่ผมเขียนบทความนี้ 2012-11-07 ค่าเงิน EUR/USD ซื้อที่ 1.2768 และขายที่ 1.2765 มันต่างกันอยู่ 0.0003 เจ้าส่วนต่างนี่คือ สเปรด จากตัวเลขนี้ คุณต้องใช้เงิน 1.2768 USD เพื่อจะซื้อ 1 EUR เมื่อซื้อแล้วก็หวังว่าอัตราแลกเปลี่ยนมันจะสูงขึ้น เพื่อจะขายคืนให้โบรกเกอร์ เช่น มันขึ้นไปที่ 1.2800 คุณขายคืนก็ได้กำไร 0.0032 USD แต่ซื้อแล้วขายทันที คุณก็จะขายทุนเท่ากับ สเปรด คือ 0.0003 USD หรือที่เรียกว่า 3 pips
ในทางกลับกัน ถ้าคุณคิดว่าค่าเงิน EUR มันจะลง คุณก็ขาย เมื่อมันลงคุณก็ซื้อคืนเพื่อทำกำไร ผมเองมองว่าจุดนี้เป็นข้อดีของการเทรดค่าเงิน เพราะคุณสามารถทำกำไรได้ไม่ว่าค่าเงินมันจะขึ้น หรือจะลง ขอให้มันเป็นไปในทางที่คุณคิดก็พอ อันหลังนี่ละครับยาก ไม่งั้นรวยกันหมดแล้ว
นักลงทุนรายย่อย หรือนักเก็งกำไร หรือแมงเม่า แล้วแต่ใครจะเรียกว่าอะไรครับ ซึ่งก็คือผม คือคุณและเพื่อนๆ ร่วมโลกอีกนับล้านๆ ที่เข้ามาขับเคลื่อนตลาดครับ เราไม่ได้ซื้อขายกันเอง แต่เราซื้อและขายกับโบรกเกอร์ที่เราใช้บริการ ทางโบรกเกอร์ก็เหมือนจะเคาท์เตอร์เทรดกับเรา เพื่อป้องกันความเสี่ยงของเขา หรือบางรายก็ปล่อยผ่านไปยังสถาบันการเงินที่เขาทำธุรกรรมด้วย ซึ่งไม่มีผลอะไรกับเราครับ ขอให้เลือกโบรกเกอร์ที่มั่นคง น่าเชื่อถือ ก็พอ
ตลาดหุ้นเปิดเฉพาะในวัน/เวลาทำการ แต่ตลาดฟอเร็กซ์มันเปิด 24 ชั่วโมง 6 วัน/สัปดาห์ เพราะมันเป็นตลาดที่ไม่มีจุดศูนย์กลาง เป็นตลาดแบบทั่วโลก ประเทศฝั่งอมเริกาค่ำแล้ว ตลาดปิด แต่ประเทศฝั่งเอเชียเป็นตอนกลางวัน ตลาดก็ยังเปิดอยู่ อีกวันที่หายไปคือช่วงบ่ายวันศุกร์ และช่วงเช้าวันอาทิตย์ ของทางอเมริกาครับ นอกจากนี้วันหยุดต่างๆ มันก็ไม่ตรงกัน วันชาติอเมริกาตลาดหุ้นปิด แต่ตลาดค่าเงินก็ยังเปิดอยู่ ก็จะมีวันหยุดแบบสากล เช่นวันปีใหม่ ที่ทุกตลาดหยุดหมดครับ
ปัจจุบันนี้โบรกเกอร์ที่เราใช้กัน ไม่เพียงแต่ให้คุณซื้อขาย/แลกเปลี่ยนสกุลเงิน แต่ยังให้คุณซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ เช่น ทอง, เงิน, น้ำมัน และอีกหลายๆ รายให้คุณซื้อขายหุ้น และดัชนีตลาดได้อีกด้วย แต่มันคงเกินเลยขอบเขตของหนังสือเล่มนี้ไปเยอะครับ

CURRENCY PAIR

การลงทุนในค่าเงินนั้น จะซื้อ/ขายได้นั้นต้องมี 2 สกุลเงิน เช่น วันที่ผมเขียนบทความนี้ (2012-11-04) อัตราแลกเปลี่ยนของ EUR/USD ดูในกูเกิ้ลก็พิมพ์ว่า EUR/USD rate เท่ากับ 1.2830 ก็หมายความว่า คุณสามารถซื้อ 1 ยูโร ด้วยเงิน 1.2830 ยูเอสดอลลาร์ สกุลเงินทางซ้าย ที่อยู่ข้างหน้าเครื่องหมาย / เราเรียกมันว่า Base Currency ในที่นี้ก็คือ EUR ส่วนทางขวาเราเรียกมันว่า Quoted Currency ในที่นี้ก็คือ USD ครับ
หากคุณคิดว่า Base Currency จะแข็งค่าขึ้น คุณจะซื้อมัน จากตัวเลขข้างบน คุณจะซื้อ EUR ที่ 1.2830 USD ถ้ามันแข็งขึ้นตามที่คุณคิด อาจจะแข็งขึ้นไปที่ 1.3000 แล้วคุณค่อยขาย คุณก็ได้กำไร 0.0170 USD ในทางตรงกันข้าม ถ้าคุณคิดว่ามันจะอ่อนลง คุณก็ขาย

7 สกุลเงินหลักในตลาดค่าเงิน (Seven Major Currencies)

ประเทศสกุลเงินตัวย่อ/รหัสชื่อเล่น
สหรัฐอเมริกา United Statesดอลลาร์ DollarUSDbuck, greenback
สหภาพยุโรป European Unionยูโร EuroEURFiber
อังกฤษ Great Britainปอนด์ PoundGBPCable
สวิสเซอร์แลนด์ Switzerlandฟรังซ์ FrancCHFSwissy
ออสเตรเลีย AustraliaDollarAUDAussie
นิวซีแลนด์ New ZealandDollarNZDKiwi
แคนาดา CanadaDollarCADLoonie
คู่สกุลเงินที่่มีการเทรดมากที่สุดคือ EUR/USD ครับ จากตัวอย่างข้างบน มันดูได้กำไรนิดเดียว 0.0170 USD หรือคิดเป็นเงินไทยได้ 0.54 บาท แต่คุณไม่ได้ซื้อขายกันทีละ 1 หน่วย หรือ 1 EUR นะครับ การซื้อขายแต่ละครั้งเราเรียกว่า ล๊อต (Lot) โดยมีขนาดของล๊อตดังนี้
  • สแตนดาร์ดล๊อต (Standard Lot) เท่ากับ 100,000 หน่วย
  • มินิล๊อต (Mini Lot) เท่ากับ 10,000 หน่วย
  • ไมโครล๊อต (Micro Lot) เท่ากับ 1,000 หน่วย
  • นาโนล๊อต (Nano Lot) เท่ากับ 100 หน่วย
แต่คุณไม่จำเป็นต้องมี 100,000 เหรียญ เพื่อจะซื้อ 1 สแตนดาร์ดล๊อตหรอกครับ คุณสามารถใช้สิ่งที่เรียกว่า มาร์จิ้น (Margin) และ Leverage ที่ทางโบรกเกอร์เขาเสนอให้คุณใช้เพื่อซื้อขายได้ครับ เช่นเขาให้คุณ Leverage ที่ x100 คุณก็สามารถซื้อ 1 นาโนล๊อต ได้ด้วยเงินเพียง 1 USD
เวลาจะซื้อขายค่าเงิน มันจะไม่ได้บอกอัตราแลกเปลี่ยนมาแค่ตัวเดียว แต่มันจะมาเป็นคู่ครับ เราเรียกมันว่า bid กับ ask แต่เดี่ยวนี้โบรกเกอร์หลายๆ รายก็ทำให้มันง่ายขึ้นด้วยการเขียนกำกับไปเลยว่า ซื้อ (Buy) หรือ ขาย (Sell) แต่ก็เรียนรู้ไว้ก็ดีครับ
  • bid เป็นราคาที่ โบรกเกอร์ จะซื้อ Base Currency จากคุณ
  • ask เป็นราคาที่ โบรกเกอร์ จะขาย Base Currency ให้กับคุณ
ทำไมค่าเงินมันขึ้น/ลง

บทความตอนนี้ พยายามจะชี้ให้คุณเห็นว่าทำไมอัตราแลกเปลี่ยนมันขึ้น/ลง เพื่อที่คุณจะได้ใช้เป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์ เรื่องราวต่างๆ ผมคิดว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะรู้ว่าคุณกำลังเล่นอยู่กับอะไรบ้าง มีใคร/ปัจจัยอะไรเกี่ยวข้องบ้าง
ค่าเงิน มันก็เหมือนสินค้าอื่นๆ ครับ ถ้ามีคนต้องการเยอะ แต่สินค้ามีน้อย ราคามันก็จะสูงขึ้น ถ้าสินค้ามีเยอะ แต่ไม่ค่อยจะมีคนต้องการ ราคามันก็จะต่ำลง ดังนั้นคำตอบสั้นๆ คือ ราคามันขึ้นกับอุปสงค์/อุปทาน แต่ทำไมมันเกิดอุปสงค์/อุปทาน แบบนั้นละ
 

คน/องค์กร ที่เกี่ยวข้องในการทำให้ค่าเงินมันเปลี่ยน

  • ธนาคารกลาง และรัฐบาลของแต่ละประเทศ
    ก็คงเฉพาะประเทศใหญ่ ในสกุลเงินหลักที่เทรดกัน ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางอเมริกา (FED – Federal Reserve), ธนาคารกลางยูโร (ECB – European Central Bank), ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE – Bank of England) ทั้งรัฐบาล และธนาคารกลาง จะเข้ามากำหนดอัตราดอกเบี้ย และนโยบายทางการเงิน เพื่อปรับให้ค่าเงินของเขาอ่อน หรือแข็ง
  • ธนาคาร/สถาบันการเงินขนาดใหญ่
    ต้องเน้นว่าขนาดใหญ่ระดับโลก ไม่ใช่พวกธนาคารพาณิชย์ใหญ่ๆ ในประเทศไทย พวกนี้ทำรายการกันทีละเป็นสิบล้านเหรียญ ร้อยล้านเหรียญ ซึ่งมันจะมีผลให้ค่าเงินเปลี่ยนแปลง
  • บริษัทเอกชนขนาดใหญ่
    เพราะธุรกิจระหว่างประเทศจะเดินได้ ต้องมีการแลกเปลี่ยนสกุลเงิน เพื่อชำระค่าสินค้า อย่างแอปเปิ้ลจะซื้อชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ จากจีน ก็ต้องแลกเงินจาก USD มาเป็นสกุลเงินหยวนเสียก่อน
  • นักเก็งกำไร อย่างคุณและผม
    พวกเราเข้ามาเพื่อหาเงิน เก็งกำไร หรือที่ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า Speculator บางคนก็กระเป๋าหนัก เล่นแยะ บางคนก็เล่นเล็กๆ น้อยๆ จากข้อมูลบนเน็ตหลายๆ แหล่ง บอกว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด บางแหล่งว่ากว่า 90% ของการเทรดมาจากกลุ่มนี้เลยทีเดียว
Photobucket - Video and Image Hosting

ปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินมันขึ้นมันเปลี่ยน

  • อัตราดอกเบี้ย (Interest Rates)
    หนังสือทุกเล่มยกให้ อัตราดอกเบี้ย เป็นปัจจัยหลัก ที่ทำให้เงินมันไหลจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง การไหลนี้เองทำให้ค่าเงินมันเปลี่ยน ลองคิดดูง่ายๆ นะครับ ธนาคาร ก. ให้ดอกเบี้ย 5% กับธนาคาร ข. ให้ดอกเบี้ย 2% คุณจะเอาเงินไปฝากธนาคารไหน
  • การเติบโตทางเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อ
    เป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจาก อัตราดอกเบี้ย โดยธนาคารกลางของประเทศนั้นๆ จะใช้การกำหนดอัตราดอกเบี้ย เป็นกลไลในการกำหนดทิศทางของการเติบโตทางเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อ
  • การเมือง
  • ความเสี่ยงอื่นๆ ในภูมิภาคนั้นๆ เช่นภัยธรรมชาติ, การก่อการร้าย

ประเภทของคำสั่งซื้อขาย

เวลาคุณทำรายการกับโบรกเกอร์ เราเรียกมันว่าคุณ ส่งคำสั่งซื้อขาย เข้าไปให้กับโบรกเกอร์ คำสั่งซื้อขายมี 4 ประเภทคือ

มาร์เกตออร์เดอร์ (Market Order)

เป็นคำสั่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าคุณจะซื้อ หรือจะขาย จะว่ากันตรงๆ ก็คือตอนที่คลิ๊กซื้อ หรือคลิ๊กขาย นี่แหละครับ เช่นคุณเห็นราคา EUR/USD อยู่ที่ 1.2837 และคิดว่ามันจะขึ้น ด้วยข้อมูลการวิเคราะห์อะไรของคุณก็แล้วแต่ ก็คลิ๊กซื้อ ทันทีที่คลิ๊กมันก็จะเกิดคำสั่ง โบรกเกอร์จะพยายามซื้อให้คุณในราคาที่คุณเห็น ซึ่งปกติก็ไม่มีปัญหาอะไร มันก็ทำรายการสำเร็จ แต่ก็มีบางครั้ง (น้อยมากๆ) ที่ราคามันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก หรือที่เราเรียกว่า slippage คุณก็จะไม่ได้ราคาที่คุณคลิ๊ก แต่จะได้ราคาที่โบรกเกอร์ทำดีที่สุด อาจจะ 1.2840 อะไรทำนองนั้น ถ้ามันเปลี่ยนแบบเร็วมากๆ คำสั่งของคุณก็จะทำไม่สำเร็จ ไม่เกิดรายการ เช่นบางโบรกเกอร์กำหนดว่าถ้ามันเกิน 10 pips จากที่คุณคลิ๊ก ก็ยกเลิกไป

เอนทรีออร์เดอร์ (Entry Order)

เป็นคำสั่งให้ซื้อ หรือขาย เมื่อราคาไปถึงจุดที่คุณกำหนดไว้ล่วงหน้า คุณจะได้ไม่ต้องนั่งเฝ้าหน้าจอ เผื่อที่จะคลิ๊กเอาราคาที่ต้องการ

สต๊อปออร์เดอร์ (Stop Order / Stop Loss)

เป็นคำสั่งให้ปิดรายการซื้อขาย ที่เปิดไว้ เมื่อคุณขาดทุนถึงจุดที่กำหนดไว้

ลิมิตออร์เดอร์ (Limit Order / Take Profit)

เป็นคำสั่งให้ปิดรายการซื้อขาย ที่เปิดไว้ เมือ่คุณกำไรถึงจุดที่กำหนดไว้
Photobucket - Video and Image Hosting
มาร์จิ้น และ เลฟเวอเรจ
มาร์จิ้น (Margin) คือเปอร์เซนต์ของเงินลงทุนของคุณที่โบรกเกอร์ต้องการให้คุณลงเงินของคุณจริงๆ และมีเงินอย่างน้อยเท่านั้นเท่านี้อยู่ในบัญชีของคุณ ตัวอย่างเช่น โบรกเกอร์ให้มาร์จิ้นคุณ 1% และคุณต้องการทำรายการ 100,000 หน่วย คุณก็ต้องมีเงินของคุณอยู่ในบัญชีอย่างน้อย 1,000 หน่วย
เวลาอัตราแลกเปลี่ยนขยับ ถ้ามันเป็นไปในทางเดียวกับที่คุณเลือกก็ดีไป แต่ถ้าไม่ มันจะไปตัดเงินของคุณก่อน และถ้าเงินของคุณเหลือน้อยกว่ามาร์จิ้นที่เขากำหนด เขาก็จะบังคับปิดรายการซื้อขายของคุณ หรือที่ว่า มาร์จิ้นคอลล์ (Margin Call) ถ้ามองในแง่ดี ก็คือคุณจะได้ไม่ติดหนี้โบรกเกอร์ เป็นการป้องกันตนเองแบบหนึ่งครับ แต่อย่าลืมว่าอัตราแลกเปลี่ยนมันมีขึ้นมีลง บางครั้งรออีกสิบนาที รออีกสองชั่วโมง มันก็สวิงกลับไปอีกด้านก็เป็นไปได้ แต่คุณอาจจะถูกบังคับปิดรายการไปแล้ว
ในขณะที่ เลฟเวอเรจ (Leverage) เป็นกระบวนการใช้งานมาร์จิ้นในแต่ละคำสั่งซื้อขาย (หรือแต่ละเทรด) และฟังเข้าใจง่ายกว่า คุณจะเห็นโบรกเกอร์แสดงเลฟเวอเรจเป็นเหมือนตัวคูณ เช่น
  • คุณต้องการซื้อ EUR/USD 1,000 หน่วย ที่ 1.3250 คุณก็ต้องมีเงิน 1325.00 USD เพื่อจะซื้อ 1000 EUR อันนี้จะเรียกว่า Leverage ที่ x1 ก็ได้
  • โบรกเกอร์ให้คุณใช้ Leverage ที่ x10 คุณก็ใช้เงินเพียง 132.50 USD ในการซื้อ 1000 EUR
  • ถ้าให้ใช้ได้ถึง x100 ก็ใช้เงินเพียง 13.25 USD ในการซื้อ 1000 EUR
อย่าเพิ่งคิดว่าโบรกเกอร์เขาใจดีให้คุณยืมเงินไปใช้ฟรีๆ นะครับ Leverage มันมาพร้อมกับความเสี่ยง โบรกเกอร์บางรายจึงเรียกมันว่า Risk Level อย่างในตัวอย่างข้างบน
  • ถ้าคุณใช้ x1 เวลาอัตราแลกเปลี่ยนมันขึ้น 0.0001 หรือขึ้นไป 1 pip คุณจะได้กำไร 0.0001 ต่อหน่วย คุณซื้อ 1000 หน่วยก็ได้กำไร 0.10 USD ถ้ามันขึ้นไป 10 pips ก็ได้กำไร 1 USD
  • ถ้าคุณใช้ x10, x100 มันขึ้น 1 pip คุณกำไรเท่าเดิม คือ 0.10 USD เพราะมันคิดที่หน่วยที่คุณถือไว้ คือ 1000 หน่วยเท่ากัน
  • ในทางตรงกันข้าม ถ้ามันลงคุณก็ขาดทุน pip ละ 0.10 USD เช่นกัน
  • ในกรณีที่มันไปในทิศทางตรงข้ามกับที่คุณเลือก เช่นคุณซื้อ แล้วมันลง, คุณขาย แต่มันขึ้น ตรงนี้แหละที่ Leverage จะหันกลับมาเล่นงานคุณ เพราะถ้าคุณขาดทุนจนหมดเงินต้นที่คุณลงไป โบรกเกอร์จะบังคับให้คุณปิดคำสั่งซื้อขายนั้น อย่างคุณใช้ x100 คุณลงทุนไปแค่ 13.25 USD หรือเท่ากับมันเปลี่ยนแปลงได้แค่ 132 pips เงินคุณก็หายหมด คำสั่งซื้อขายปิด
  • ตรงนี้เองคำสั่งซื้อขายแบบมี Stop-loss จึงมีประโยชน์ และโบรกเกอร์บางรายยังให้คุณใช้เงินที่มีในบัญชีของคุณเติมเข้าไปได้เพื่อให้คำสั่งซื้อขายไม่ถูกปิดอีกด้วย
Photobucket - Video and Image Hosting

การวิเคราะห์


  • การวิเคราะห์ปัจจัยเทคนิค – Technical Analysis
    เป็นการศึกษาเรื่องราวของการเคลื่อนไหวของราคาค่าเงิน (Price Movement) ด้วยหลักการ 2 อย่างคือ
    1. ราคามันเคลื่อนไหวตามปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามาในตลาดค่าเงิน ดังนั้นหากเราศึกษาการเคลื่อนไหวของราคา เราก็จะรู้ว่าจะเทรดอย่างไร
    2. คำโบราณที่ว่า History tends to repeat itself – ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอยู่เรื่อยๆ ราคามันจะเคลื่อนไหวเป็นรูปแบบที่ซ้ำๆ กัน อยู่เรื่อยๆ
    เวลาที่เราพูดถึงการวิเคราะห์ทางเทคนิค สิ่งแรกที่เรานึกถึงจะเป็นชาร์ต/กราฟ (จริงๆ มันมีความหมายไม่เหมือนกันนะครับ ชาร์ต กับ กราฟ แต่ในที่นี่ มันไม่ได้สำคัญอะไร ทุกคนเข้าใจตรงกันว่า มันคือ ชาร์ตแท่งเทียน เป็นส่วนใหญ่ หากใครสนใจว่ามันต่างกันอย่างไรลองหาอ่านเรื่อง Data Visualization ดูนะครับ) จะว่าง่าย มันก็ง่ายละครับ ลองให้เด็กประถม มองชาร์ตแท่งเทียนสักอันหนึ่ง เด็กจะบอกได้เลยว่า เทรนด์ของมัน ขึ้นหรือลง
    แต่ในความเป็นจริง มันไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะมันมีเรื่องของ ช่วงเวลา (Time Frame) มาเกี่ยวข้องด้วย คุณอาจจะดูกราฟ 1 นาที แล้วเห็นมันกำลังขึ้น ในขณะที่ชาร์ต 1 ชั่วโมง มันกำลังลงก็ได้ หรือแม้แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน เอาคนสองคนมาดู ก็อาจจะเห็นไม่เหมือนกันได้ ขึ้นกับว่าเขามองเห็นมันเป็นรูปแบบใด (Chart Pattern)
  • การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน – Fundamental Analysis
    เป็นการวิเคราะห์ปัจจัยทางเศรษฐกิจ, สังคม, การเมือง และปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาค่าเงิน หรืออีกนัยหนึ่งมีผลกับอุปสงค์ และอุปทานของสกุลเงินต่างๆ อย่างที่เขียนไว้ในตอนต้นว่า ราคาค่าเงินมันเคลื่อนไหวด้วยกฎของ อุปสงค์และอุปทาน ซึ่งง่ายมาก ถ้าอุปสงค์สูง แต่อุปทานต่ำ ราคามันก็สูง แต่ที่ยากคือ ปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดอุปสงค์/อุปทานครับ
    .
  • การวิเคราะห์ความเชื่อมั่นของตลาด – Sentiment Analysis
    เป็นการวิเคราะห์จากคำสั่งซื้อขายของเทรดเดอร์ทุกๆ คนในตลาด เนื่องด้วยตลาดค่าเงินมันมีมูลค่าใหญ่มาก จนแทบจะไม่มีใคร/องค์กรใด ควบคุมทิศทางของมันได้นานๆ (อาจมีก็ได้ อย่างจอร์จ โซรอส,โกลแมน แซก) ถ้าทุกคนมองไปในทิศทางเดียวกันว่า USD จะราคาต่ำลง และส่งคำสั่งขาย USD กันหมด มันก็จะทำให้ราคาของ USD ต่ำลง เพราะอุปสงค์ลดลง แต่มีอุปทานเข้ามามาก
การวิเคราะห์ไม่ว่าจะแบบไหน ใครเขียน มันเริ่มจากสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้ว และคิด/คาดว่า มันจะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในอนาคต เป็นรูปแบบ (Pattern) แต่มันอาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ เพราะถ้าทุกอย่างมันเกิดเป็นรูปแบบที่แน่นอน ใครๆ ก็รวยกันหมดแล้ว
เทรดเดอร์อย่างคุณ อย่างผม เรียกว่า Scalp Trader น่าจะแปลไทยว่านักเก็งกำไร เราเข้ามาในตลาดเพื่อทำกำไร โดยมากเราใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิค เป็นหลักในการเข้าเทรด เพราะราคาเคลื่อนไหวแค่ไม่กี่ปิป ก็มีผลกับกำไร/ขาดทุนของเราครับ แต่ก็ควรจะเรียนรู้การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน และการวิเคราะห์ความเชื่อมันของตลาดด้วย


ชาร์ตที่ฮิตๆ เวลาพูดถึงเรื่องการลงทุนในค่าเงิน มีอยู่ 3 แบบคือ
  1. ไลน์ชาร์ต – Line Chart
  2. บาร์ชาร์ต – Bar Chart
  3. แคนเดิ้ลสติ๊กชาร์ต – Candlestick Chart

ประเภทของชาร์ต

1. ไลน์ชาร์ต - Line Chart

เป็นชาร์ตแบบพื้นฐานที่สุด โดยเอาราคาปิดของแต่ละช่วงเวลามาวาดลงไป

2. บาร์ชาร์ต – Bar Chart

ก็ซับซ้อนขึ้นมาอีกนิด โดยมีข้อมูลของราคาปิด, ราคาเปิด, ราคาสูงสุด และราคาต่ำสุด วางลงไปในแต่ละบาร์ด้วย หนึ่งบาร์อาจจะแทน 1 นาที, 5 นาที,  15 นาที, 1 ชั่วโมง, 1 วัน หรือ 1 สัปดาห์ก็ได้ แล้วแต่เราจะเลือกดูครับ
ตัวความสูงของบาร์ คือช่วงของราคาในช่วงเวลานั้น, ขีดทางซ้ายมือคือราคาเปิด และขีดทางขวามือคิดราคาปิด ดูรูปข้างล่างนะครับ

3. แคนเดิ้ลสติ๊กชาร์ต – Candlestick Chart

เป็นชาร์ตที่เป็นที่นิยมมากที่สุดวิธีหนึ่ง นั่นคือ Japanese Candlestick ครับ อธิบายด้วยรูป น่าจะเข้าใจได้ดีที่สุดครับ
แท่งเทียนแต่ละแท่งเป็นตัวแทนของความเคลื่อนไหวของราคาในช่วงเวลาที่กำหนด คุณอาจจะเลือกใช้ 1 นาที, 5 นาที หรือ 1 วัน ก็ได้ เมื่อมาเรียงกันในชาร์ตมันจะบอกเทรนด์ได้ และยังอาจจะบอกพฤติกรรมทางจิตวิทยาของตลาดได้ด้วย บางตัวผมขอทับศัพท์ภาษาอังกฤษนะครับ
  • ถ้าราคาปิด (Close) มากกว่า ราคาเปิด (Open) ตรง Real Body ปกติมันจะแสดงด้วยสีขาว หรือเขียว หรือคุณอาจกำหนดให้มันเป็นสีอะไรก็ได้ใน Setting ของชาร์ต แต่ผมว่าสีเขียวดีแล้ว
  • ถ้าราคาปิด (Close) ต่ำกว่า ราคาเปิด (Open) ตรง Real Body มันจะแสดงด้วยสีดำ หรือสีแดง
  • ส่วน Shadow บนและล่าง แสดงราคา สูงสุด/ต่ำสุด
มาดุแบบพื้นฐานกันนะครับ
Long vs Short
อันนี้ดูที่ตัว Body ของแท่งเทียนครับ มันบอก Sentiment ของตลาด ณ เวลานั้นๆ ว่า เขาซื้อ หรือขายกัน
  • ถ้ามันสั้น ก็แสดงว่ามีความเคลื่อนไหวสูง ถ้าเขียวสั้น ก็แรงซื้อน้อย แดงสั้น ก็แรงขายน้อย
  • กลับกัน ถ้ามันยาว ก็แสดงว่ามีความเคลื่อนไหวสูง
Long Shadow
อันนี้ดูที่ตัว Shadow ข้างบน และข้างล่าง ของแท่งเทียนครับ
  • ถ้า Long Shadow ข้างบน ก็แสดงว่ามีแรงซื้อเข้ามา แต่แพ้แรงขาย ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เพราะมันดึงเอา ราคาปิดต่ำลงไปมาก
  • ในทางกลับกัน ถ้า Long Shadow อยู่ข่างล่าง ก็คือ แม้จะมีแรงขายเยอะ แต่แรงซื้อชนะ ลากเอาราคาปิด ขึ้นไปได้
มีหนังสือเขียนให้อ่านกันได้เป็นเล่มๆ เกี่ยวกับ Candlestick มีรูปแบบที่แสดงเทรนด์ของราคาเยอะเลย แต่ก็อย่างที่บอกครับ ไม่ใช่ว่าราคามันจะเป็นไปตามรูปแบบตลอดเวลา บางครั้งมันก็กลับทิศ ขึ้นอยู่ดีๆ ก็ลงได้เหมือนกัน
Photobucket - Video and Image Hosting

แผนการลงทุน


แผนการลงทุน (Trading Plan) ก็เหมือนกับการทำธุรกิจอื่นๆ หรือการลงทุนอื่นๆ ที่คุณจะเห็น จะได้ยินอยู่เสมอว่า
Fail to Plan is Plan to Fail
การไม่ได้วางแผน คือการวางแผนเพื่อที่จะล้มเหลว
แต่ต้องชี้แจ้งกันให้ชัดเจนนะครับว่า นี่เป็นเพียงตัวอย่าง เป็นเพียงข้อมูลที่ให้กับคุณ ส่วนการจะทำให้มันเกิดผล ไม่ว่าจะกำไร หรือขาดทุน คุณต้องเป็นคนทำเอง บางคนอาจจะบอกว่า ถ้าเทรดแล้วได้กำไร แล้วมันจะมีอะไรกับการมีหรือไม่มี แผนการลงทุน แค่กำไรก็พอ (อ่านคำตอบของผมข้างล่างนะครับ)
การลงทุนในค่าเงิน มันไม่ใช่การเล่นพนันว่า วันนี้, ชั่วโมงนี้ หรืออีก 10 นาที ยูโรจะขึ้นหรือจะลง แม้ว่าถ้ามันวิ่งไปในทิศทางที่คุณคาดไว้ คุณจะได้กำไรจำนวนมาก
คำตอบของผมในการที่คุณต้องมี หรือควรจะมีแผนการลงทุน คือถ้าคุณขาดทุน คุณจะได้บอกได้ว่า แผนการลงทุนของคุณผิด หรือถ้ามันไม่ผิด คุณก็ไม่ได้ทำตามแผนการลงทุนของคุณ เหมือนกับคุณขับรถไปเที่ยว โดยขับตามแผนที่ หรือขับตามเครื่องนำทาง GPS ถ้ามันไปไม่ถึง ไม่เจ้าเครื่อง GPS มันบอกผิด ก็ต้องเป็นคุณที่ไม่ได้ขับตามที่มันบอก

วางแผนด้วย Stop Loss และ Take Profit


การลงทุน ไม่ว่าจะลงทุนอะไร มันมีโอกาส 2 อย่างคือกำไร หรือ ขาดทุน
ลองคิดถึงการโยนเหรียญนะครับ มันมีหัว/ก้อย การเทรดก็เหมือนกัน มันมีขึ้นมีลง ลองกำหนดว่าคุณเทรดที่ 100 USD ค่าความเสี่ยงที่ x100 เพื่อซื้อ 10,000 หน่วยนะครับ มันจะขึ้นลงได้ 100 pips จะได้ง่าย ในการทำความเข้าใจ
ผู้รู้ทั้งหลาย (ไม่ใช่ผม) เขาบอกให้คุณ กำหนด Stop Loss / Take Profit Ratio อยู่ที่ 1:2 หรือ 1:3 และให้แน่วแน่ที่จะไม่เปลี่ยนมัน มีวินัยที่จะทำมันทุกเทรด
กำหนด Stop Loss ที่ 25 และ Take Profit ที่ 50 แบบนี้คือ 1:2 เมื่อเทรดแรกผ่านไป ถ้าคุณได้กำไร เทรดที่ 2 ที่ 3 คุณก็จะเบาใจได้ที่จะขาดทุน เพราะถึงจะขาดทุนอีก 2 เทรด คุณก็ยังคงเสมอตัว
ผมยกตัวอย่างบนอีโทโร่แพลทฟอร์ม การกำหนด Stop Loss หรือ Take Profit มันมีกติกาเหมือนกัน คุณไม่สามารถกำหนดว่า Stop Loss 1 pips และ Take Profit 2 pips อย่างน้อยก็จะอยู่ที่ 12 pips หรือ ขั้นต่ำที่ 20% ของจำนวนเงินลงทุนในเทรดนั้น ขึ้นกับว่าอะไรมันมากกว่า ในกรณีของตัวอย่าง ลงทุน 100 USD x100 ขั้นต่ำของ Stop Loss และ Take Profit ก็คือ 20 USD เพราะ 12 pips มันมีค่าแค่ 12 USD ครับ
กรณีที่คุณเทรดแบบ x200 มันขึ้นลงได้แค่ 50 pips ส่วน x400 มันขึ้นลงได้แค่ 25 pips ก็กำไร หรือขาดทุน 100% แล้ว การกำหนด Stop Loss และ Take Profit ของ x400 ทำยากครับ ดังนั้น คุณควรใช้ x400 เมื่อเห็นว่ามันไปทางทิศทางที่คุณต้องการแล้วเท่านั้น มิเช่นนั้นก็จะเหมือนกับการเล่นพนัน เสี่ยงเอา
ขั้นต่ำสุดที่จะซื้อ/ขายได้คือ 1,000 หน่วย ถ้าลงทุน 10 USD ที่ x100 ก็จะได้ 1,000 หน่วย แต่ถ้าคุณลงทุนแค่ 5 USD ก็ต้อง x200 หรือ ต่ำสุดคือ ลงทุน 2.5 USD ที่ x400 เพื่อลงทุน 1,000 หน่วย ถ้าให้ผมแนะนำ ฝากเข้าไปอย่างน้อยสัก 100 USD แล้วเทรดครั้งละ 10 USD 20 USD เพื่อที่จะใช้ x100 จะดูปลอดภัยที่สุดครับ
สุดท้าย ผมเองก็ทำไม่ค่อยจะได้หรอกครับ พอเห็นมันใกล้ Stop Loss ที่กำหนดไว้ หลายๆ ครั้งก็ขยับ Stop Loss สักนิด บางครั้งก็ดี มันดีดกลับไปได้กำไร บางครั้งก็ทำให้เสียมากขึ้น ส่วนการขยับ Take Profit นั้นแทบจะไม่เคยทำเลย บ่อยครั้งมันเลยกลายเป็น เสียเยอะ กำไรน้อย

Pivot Point Trading


ก่อนจะไปถึงว่าจะเทรดไพวอทพอยท์ – Pivot Point อย่างไร มาดูกันว่ามันคืออะไร คำนวนขึ้นมาอย่างไรก่อนครับ แต่คุณไม่ต้องไปคำนวนเองหรอกครับ มีเครื่องมือที่คำนวนให้คุณอยู่แล้วครับ ผมเองใช้ลิงค์นี้ครับ http://www.dailyfx.com/technical_analysis/pivot_points ดูภาพตัวอย่างข้างล่างครับ หรือถ้าต้องการแบบข้อมูลเกือบทุกอย่างเกี่ยวกับแต่ละคู่สกุลเงินก็ http://www.fxstreet.com/technical/currencies-glance/pair.aspx?id=eur/usd ครับ ง่ายดี ( ไม่ได้ค่าโฆษณานะครับ เห็นว่ามันดูง่ายดี)
Pivot Point เป็นตัวบ่งชี้ตัวหนึ่ง มันคำนวนขึ้นจากราคาสูงสุด, ต่ำสุด และราคาปิด เช่นเดียวกับตัวบ่งชี้อื่นๆ มันสามารถเลือกเอาช่วงเวลาที่ต้องการได้ว่าจะเป็น รายชั่วโมง, รายวัน, รายสัปดาห์, รายเดือน คำนวนออกมาเป็น แนวรับ/แนวต้าน 3 ระดับ คือ S3,S2,S1, P , R1,R2,R3 มีการคำนวนหลายสูตรครับ แต่ที่ใช้กันมากก็จะเป็นแบบ Classic คือสูตรนี้ ย้ำครับ ไม่ต้องไปคำนวนเอง เพราะคุณต้องเอาตัวเลขมาใส่ เขามีให้ใช้ มีให้ดูกันตามเวปต่างๆ เยอะไป
Resistance 3 = High + 2*(Pivot – Low)
Resistance 2 = Pivot + (R1 – S1)
Resistance 1 = 2 * Pivot – Low
Pivot Point = ( High + Close + Low )/3
Support 1 = 2 * Pivot – High
Support 2 = Pivot – (R1 – S1)
Support 3 = Low – 2*(High – Pivot)
เหตุผลที่ใช้ Pivot Point เป็นตัวชี้ว่าจะเทรดอย่างไร คือ มันเป็นวิธีที่ง่าย มีคนใช้กันเยอะ บางคนถึงกับเคลมว่า ธนาคาร/สถาบันการเงินใหญ่ๆ เขาก็ใช้กัน ดังนั้นถ้ามันใช้กันเยอะ มันก็น่าจะใช้เป็นตัวกำหนดทิศทางของตลาดได้ โดยมีหลักง่ายๆ คือ ถ้ามันเปิดเหนือ Pivot Point มันก็น่าจะขึ้น ถ้ามันเปิดต่ำกว่า Pivot Point มันก็น่าจะลง
ก็ลองลากเส้นบนชาร์ตหนึ่งชั่วโมง ของ EUR/USD ดูนะครับ ตามรูปข้างล่าง
ถ้าดูตามชาร์ตข้างบน ตัวเลขเป็น Pivot Point รายวัน จะเห็นว่า P=1.3091 ราคาเปิดของวันของ 1.3075 ต่ำกว่า P นิดหน่อย มันลงมาเรื่อยๆ รวมๆ สัก 30 pips จนชน S1 แล้วก็ดีดกลับไป
ถ้าคุณเทรดด้วยหลักง่ายๆ ข้างบน มันเปิดต่ำกว่า มันก็ควรจะลง คุณก็ทำคำสั่งขาย EUR/USD เอาสัก 10 USD ที่ x100 ที่ 1.3075 และกำหนด Take Profit ที่ S1 นั่นคือคุณจะถือไว้ 1 ล๊อต ผ่านไป 6 ชั่วโมง มันลงไปชน S1 ที่ 1.3044 คุณก็ปิดคำสั่งขายของคุณ ได้กำไรมา 1.3075 – 1.3044 = 31 pips หรือคิดเป็นเงินก็ 0.1 x 31 = 3.10 USD วิธีนี้เรียกว่า Breakout Trade ครับ
ถ้าคุณเทรดแบบ x400 ก็จะได้กำไรเป็น 0.4 x 31 = 12.40 USD จากการลงทุน 10 USD แต่คุณกล้าพอจะเสี่ยงที่ x400 หรือ เอาแค่ 3.10 เทียบเป็นเปอร์เซนต์ก็ได้ตั้ง 31% แล้ว ดีกว่าฝากธนาคารทั้งปีเยอะ
มาถึงจุดต่อไป คือมันชน S1 แล้วดีดกลับ ถ้าคุณทำคำสั่งซื้อไว้ ดูแท่งสีเขียวที่ 2 จากขวามือ มันดีดกลับไปสูงกว่าราคาเปิด (Open) นิดหนึ่ง หรือเท่ากับ 33 pips วิธีนี้เรียกว่า Pullback Trade ครับ
สรุปคือ การเทรดด้วย Pivot Point ใช้ตัวเลขจาก P,S1,R1 มากำหนดทิศทางว่ามันจะขึ้นหรือลง แล้วคุณจะซื้อหรือขายมันเมื่อไร แต่ถ้ามันวิ่งไปถึง S2,S3 หรือ R2,R3 ก็นั่งเฉยๆ ดีกว่าครับ เพราะมันต้องมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นที่ทำให้ตลาดมันกระโดด และก็เหมือนกับสถิติต่างๆ ช่วงเวลายิ่งกว้าง เป็นวัน เป็นเดือน ความเชื่อถือได้ก็จะสูงขึ้น ถ้าเอาแบบ 15 นาที มันก็คงดูอะไรไม่ค่อยได้ครับ

Candlestick Patterns Trading

จากบทความ  ประเภทของชาร์ต คุณรู้แล้วว่าเจ้า Candlestick แต่ละแท่ง มันเป็นตัวแทนข้อมูลของการเคลื่อนไหวของราคาในช่วงเวลาหนึ่งๆ รูปแบบของการเคลื่อนไหวนี้ เหมือนจะบอกคุณว่า (พยากรณ์/ทาย) ราคามันจะเคลื่อนไหวไปทางไหน (ขึ้น/ลง) ส่วนตัวผมเอง มีความเห็นเหมือนกับหนังสืออีกหลายๆ เล่ม ที่ว่า รูปแบบที่เกิดขึ้นมันเป็นตัวแทนของ ลักษณะการเทรดของเทรดเดอร์ ค่อนข้างไปทาง ความเชื่อมั่น ของเทรดเดอร์ ว่าส่วนใหญ่ขาย หรือส่วนใหญ่ซื้อ
ผมจะไม่เอาทั้งหมดมาให้คุณดูหรอกครับ มันเยอะมาก เรียกว่าเขียนเป็นหนังสือได้ทั้งเล่ม หรือจะลองกูเกิ้ลคำว่า candlestick patterns ดูนะครับ ผมอธิบายที่มาที่ไปว่าทำไมหน้าตาแท่งเทียน แต่ละแท่งมันเป็นอย่างนั้น มันแทนอะไรไปแล้วในตอนท้ายของบทความ ประเภทของชาร์ต
ผมหาข้อมูลมาให้คุณอ่านดู เป็นภาษาอังกฤษครับ แต่อ่านเข้าใจง่าย ลองตามลิงค์ข้างล่างไปนะครับ จะพิมพ์ออกมาเอาไว้เป็นข้อมูลอ้างอิงก็ดีครับ
คำเตือนของการใช้ชาร์ตแท่งเทียนในการเทรด คือ คุณต้องรอให้มันเกิดแพทเทิร์นเสียก่อน ไม่ใช่คิดว่ามันจะเกิด และที่สำคัญ มันเหมือนกับเครื่องมืออื่นๆ คือ มันมีความไม่แน่นอนอยู่ เช่น ถึงมันจะเกิดรูปแบบที่เรียกว่า Bearish Engulfing Pattern อย่างชัดเจน มันก็ไม่แน่เสมอไปว่ามันจะลง

Chart Pattern Trading


เช่นเดียวกับ Candlestick Pattern Trading แต่คราวนี้เรามองให้มันกว้างขึ้น ส่วนตัวผมใช้ชาร์ต 15 นาที กับชาร์ต 1 ชั่วโมงดู Chart Pattern แล้วก็ใช้ชาร์ต 5 นาที ดูว่าจะเข้าไปเทรดตอนไหน เพราะ 1-2 ปิป ก็มีผลกับกำไรของเราต้องละเอียดกันหน่อยครับ
ก็แนะนำอีกครั้ง หาจอใหญ่ๆ กว้างๆ หน่อยจะทำงานง่าย เพราะเปิดได้หลายๆ ชาร์ต หลายๆ หน้าต่างพร้อมๆ กัน เรียงให้มันอยู่ในตำแหน่งประจำ เคยพยายามเทรดบนโน๊ตบุค สลับหน้าจอจนมึนครับ ส่วนใครมีจอเก่าที่ไม่ได้ใช้ ก็ลองเอามาต่อแบบ 2-3 จอดูได้ครับ เดี่ยวนี้เครื่องคอมพิวเตอร์มีพอร์ทจอให้ 2 จอเป็นอย่างต่ำ และผมชอบใช้เวปเทรดเดอร์ คือใช้ได้เลยบนเบราเซอร์ไม่ต้องดาวนโหลดโปรแกรม จะได้ทำได้ทุกเครื่อง
เข้าเรื่องครับ ชาร์ตแพทเทิร์น มันบอกเราว่า เทรดเดอร์กำลังซื้อ/ขาย กันอย่างไร เหมือนกับรูปแบบของแท่งเทียน มันบอกเราว่ามันกำลังขึ้น หรือลงต่อเนื่องไป (Continuation) หรือกำลังจะเปลี่ยนขั้ว จากขึ้นไปเป็นลง หรือจากลงไปเป็นขึ้น (Reversal) แต่ก็อีกละครับ หลายๆ ครั้งมันก็ไม่เป็นไปตามนั้น ถ้าคุณเทรดทุกครั้งด้วยเงินเท่าๆ กันเช่น 10 USD ก็ขอให้เทรดได้มากกว่าเทรดเสียก็พอแล้ว คุณก็ได้กำไร

แรงซื้อ/แรงขาย ต่อเนื่อง (Continuation)

จากรูปขวนบน Bullish Pennant จะเห็นว่า เริ่มจากแรงซื้อ (ราคาขึ้น) แล้วก็มีการขายทำกำไร ให้ราคามันลง พอราคาลง คนก็เข้ามาซื้ออีก กลายเป็นซิกแซก ที่ความกว้างเล็กลง เจ้าความกว้างที่เล็กลง มันบอกว่า แรงซื้อ/แรงขาย มันมากน้อยกว่ากันอย่างไร คุณก็ต้องเลือกละว่ามันจะไปต่อ หรือจะกลับขั้ว อย่างในรูป ถ้าไปต่อ คุณก็ทำคำสั่งซื้อตรง entry เพราะคิดว่ามันจะขึ้นไปอีก และกำหนด take profit ที่ target แต่อย่าลืมใส่ stop loss ไว้ด้วยนะครับ ถ้ามันไม่เป็นไปตามที่คิด จะได้ขาดทุนไม่มาก รูปอื่นๆ ก็ใช้คำอธิบายเดียวกันครับ

แรงซื้อหมด/แรงขายหมด กลับขั้ว (Reversal)

กรณีนี้คือ คุณคิดว่ามันกำลังจะกลับขั้ว จากขึ้นเป็นลง จากลงเป็นขึ้น อย่างรูปซ้ายบน Double Top เริ่มจากมีแรงซื้อ ทำให้ราคาขึ้น แต่ก็มีแรงขาย พอลงมาถึง neckline ก็มีแรงซื้ออีก ขึ้นไปแตะราคาสูง พอๆ กับครั้งแรก แต่ไม่ผ่านไป (ส่วนใหญ่จะเป็น R1 ใน pivot point) แรงขายมันเยอะกว่า ทำให้ตกลงมาอีก ก็เหมือนกันคือ สร้างคำสั่งซื้อขายที่ entry กำหนด take profit ที่ target และอย่าลืมใส่ stop loss ไว้ด้วย
ผมอยากสรุปว่า รูปแบบที่เห็น มันเป็นตัวแทนทางจิตวิทยาของเทรดเดอร์อย่างเราๆ แต่มันไม่สามารถบอกได้ 100% หรอกนะครับว่าจะเป็นตามนั้น บางคนบอกว่า ก็ทำทั้ง รายการซื้อ และ รายการขาย แล้วกำหนด stop loss ใกล้ หน่อย ผมก็เคยลอง บางครั้งก็ดีกำไร บางครั้งมันสวิงผ่านทั้ง 2 stop กลายเป็นขาดทุน 2 เท่าก็มี



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น